ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดพัทลุง นอกจากบริเวณทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นพื้นดินค่อย ๆ ลาดต่ำจากทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออกของจังหวัด กล่าวคือ พื้นที่ตอนในสุดมีความลาดชันมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ถัดมาทางทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ดอน ถัดมาอีกเป็นพื้นที่ราบจนจดพื้นส่วนที่เป็นทะเลสาบสงขลา ภูมิประเทศของจังหวัดพัทลุงสามารถจำแนกออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่ภูเขา พื้นที่ลูกคลื่นลอนชัน พื้นที่ราบ และพื้นที่เกะ


           

 1.   พื้นที่ภูเขา  มีลักษณะเป็นเทือกเขาที่มียอดสูง ๆ ต่ำ ๆ มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 800 เมตร และลาดไปทางทิศตะวันออกลงสู่ทะเลสาบสงขลาในอัตราความลาดชัน 25 – 30 เปอร์เซ็นต์ เทือกเขานี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานครศรีธรรมราช เรียกกันโดยทั่วไปในท้องถิ่นว่า เขาบรรทัด พื้นที่ภูเขามีเนื้อที่รวมกันประมาณ 835.90 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 24.41 ของพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอป่าบอน ตะโหมด กงหรา ศรีนครินทร์ ศรีบรรพต และป่าพะยอม
2.  พื้นที่ลูกคลื่น  เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากภูเขาบรรทัด หรือพื้นที่เชิงเขาลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเตี้ย ๆ ที่เรียกกันโดยทั่วไปในท้องถิ่นว่า ควน สลับด้วยที่ราบที่มีความลาดชันประมาณ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 150 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 539.70 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 15.76 ของพื้นที่ทั้งหมด อยู่ในเขาอำเภอป่าบอน ตะโหมด ศรีนครินทร์ กงหรา ศรีบรรพต และป่าพะยอม

3.  พื้นที่ราบ มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 1,485.54 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 43.38 ของพื้นที่ทั้งหมด ลักษณะพื้นที่ราบ มีเนินเขาปะปนอยู่ด้วยเนื้องจากอยู่ติดกับพื้นที่ภูเขา ความลาดชันประมาณ 2 – 5 เปอร์เซ็นต์ ความสูงเฉลี่ยประมาณ 6 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และเนื่องจากเป็นที่ที่เหมาะแก่การกสิกรรม ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดจึงนิยมตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอป่าพะยอม ควนขนุน เมืองพัทลุง เขาชัยสน บางแก้ว และปากพะยูน

4.  พื้นที่เกาะ เป็นพื้นที่ในบริเวณทะเลสาบสงขลาในเขตจังหวัดพัทลุงตั้งอยู่ในเขตอำเภอปากพะยูน มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 219.17 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 6.40 ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเขตพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของประชากร ได้แก่ เกาะราบ เกาะหมาก เกาะเสือ เกาะโคบ เกาะนางคำ เกาะแกง และเกาะยวน ส่วนพื้นที่เกาะเป็นถิ่นที่อยู่ของนกแอ่นกินรัง มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 700 ไร่ หรือ 1.12 ตารางกิโลเมตร
อ้างอิง
th.wikipedia.org/wiki/
        

ใส่ความเห็น